ถึงแม้ประเทศไทยจะผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มลงแล้ว...แต่ผลพวงของ “พิษโควิด-19” ก็ยังคง “แผ่ซ่านในชีวิตคนไทย” อีกเป็นจำนวนไม่น้อยอยู่ดี โดยหนึ่งใน “กลุ่มชีวิต” ที่ได้รับผลกระทบก็คือบรรดา “ศิลปินอาชีพ” ที่ผลพวงจากวิกฤติเชื้อไวรัสระบาดครั้งนี้ทำให้ “รายได้หดหาย” ไป อย่างไรก็ตาม แม้พิษ โควิดจะหนักหน่วง-จะหนักหนาแค่ไหน แต่ก็ยังมีศิลปินที่ไม่ยอมแพ้ กับวิกฤติชีวิตครั้งนี้ ไม่หยุดสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง ไม่ยอมเบรกเส้นทางชีวิตศิลปินเพราะโควิด อย่างเช่น “ประมวล ทุ่งปรือ” ศิลปินวัย 46 ปีคนนี้ ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวมานำเสนอ...
e e e e
ประมวล ทุ่งปรือ หรือ “โอ๋” ศิลปินเจ้าของเรื่องราววิถีชีวิตวันนี้ เล่าประวัติส่วนตัวให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า เขาเป็นคนสตูล เกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกร โดยพ่อแม่ของเขามีอาชีพทำสวนยางพารา ส่วนการศึกษาของเขานั้น โอ๋บอกว่าเรียนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยศิลปากร สาขาจิตรกรรม คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ สำหรับสาเหตุที่ทำให้สนใจศิลปะนั้น เขาบอกว่า ชอบการเขียนรูปมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว โดยมักใช้ฝาผนังบ้านเป็นที่ฝึกฝนการวาดภาพ หรือกระทั่งนำเอาดินจอมปลวกมาปั้นเป็นรูปตัวสัตว์ต่าง ๆ โดยเแววศิลปินเริ่มจับมาตั้งแต่สมัยเขาเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา เมื่อผลงานภาพวาดที่วาดได้รับรางวัลระดับโรงเรียน จนเมื่อขึ้นชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น คุณครูท่านหนึ่งคือ ครูสมศักดิ์ ศรเพชร ซึ่งสอนวิชาศิลปะ ได้ชี้แนะเขาว่า เขาน่าจะเอาดีด้านนี้ ทำให้เขาเกิดกำลังใจที่จะตั้งใจฝึกฝนตัวเอง เพื่อพัฒนาฝีมือการวาดภาพมากยิ่งขึ้น จนเมื่อเรียนจบชั้น ม.ต้น เขาจึงตัดสินใจเรียนทางด้านศิลปะอย่างจริงจัง โดยสมัครเข้าเรียนในวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช จากนั้นจึงเลือกเรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร อย่างไรก็ตาม แม้จะใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปิน เป็นนักวาดภาพ ทว่า...หลังเรียนจบปริญญาตรี เขากลับไม่ได้ทำงานศิลปะวาดรูปตามที่เรียนมา แต่เริ่มต้นชีวิตการทำงานกับบริษัทโปรดักชั่นแห่งหนึ่ง
“ผมเริ่มทำงานเป็นฝ่ายอาร์ตและฝ่ายพร็อพ ซึ่งตำแหน่งนี้จะมีหน้าที่หาข้าวของเพื่อนำไปเข้าฉาก และมีหน้าที่ในการเตรียมสิ่งของที่จะต้องใช้ในการถ่ายทำ โดยผมทำงานตำแหน่งนี้อยู่ประมาณ 1 ปี ก็ตัดสินใจเปลี่ยนมาทำอาชีพคอมพิวเตอร์กราฟิกในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง จนสุดท้ายด้วยความที่อยากจะทำงานศิลปะ อยากจะวาดภาพ ที่สุดจึงตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อยึดอาชีพวาดภาพขาย หลังจากทำงานประจำในตำแหน่งสุดท้ายนี้อยู่ประมาณ 1 ปีกว่า ๆ”
ศิลปินรายนี้บอก พร้อมเล่าอีกว่า ที่ไปทำงานด้านอื่นก่อน เพราะมีความคิดว่า อยากจะลองหาประสบการณ์กับงานด้านอื่นก่อน แต่สุดท้ายด้วยความอยากเป็นศิลปิน อยากเป็นนักวาดภาพ ทำงานประจำไปได้สักพักก็รู้ตัวเองว่าไม่ถนัดกับการเป็นมนุษย์ออฟฟิศแบบนี้ จึงลาออกจากชีวิตของพนักงานประจำ และหันมาวาดภาพขายเพื่อเลี้ยงชีวิตเต็มตัว โดยหลังจากเบนเข็มชีวิตกลับมาสู่จุดที่เคยมีความฝันแล้ว โอ๋บอกว่า ตอนนั้นตัดสินใจเดินทางไปเชียงใหม่ พร้อมกับเป้าหมายชีวิตที่วางไว้ตอนนั้นคือ จะต้องเขียนภาพให้ได้ 30 ภาพ ซึ่งตอนนั้นภาพวาดส่วนใหญ่จะเป็นภาพดอกไม้ ภาพดอกบัว โดยเมื่อวาดเสร็จก็ลองนำไปวางขาย ปรากฏผลงานขายได้ มีคนสนใจภาพที่เขาวาดไม่น้อย ทำให้เขาดีใจและรู้สึกดีมาก ๆ ที่หารายได้จากสิ่งที่รักได้
“หลังจากนั้นก็เริ่มคิดว่า เราน่าจะมีนิทรรศการจัดแสดงผลงานตัวเองสักครั้ง เมื่อคิดได้ดังนี้ก็เลยเก็บข้าวเก็บของ เก็บอุปกรณ์วาดภาพหอบขึ้นรถ ก่อนจะขับรถตระเวนไปหาโลเกชั่นดี ๆ เพื่อใช้วาดภาพตามต่างจังหวัด ซึ่งภาพชุดหลัง ๆ จากภาพยุคแรก ๆ นี้ ส่วนใหญ่จะเป็นรูปต้นไม้ที่สวย ๆ ที่ผมรู้สึกชอบ โดยตั้งใจว่าภาพชุดนี้จะนำไปจัดแสดงที่หอศิลป์จามจุรี แต่สุดท้ายผลงานชุดที่ตั้งใจนี้ก็ไม่ถูกนำไปจัดแสดง แต่เปลี่ยนเป็นจัดแสดงผลงานภาพวาดชุดดอกไม้ ดอกบัว โดยใช้ชื่อคอนเซปต์ว่าวาทกรรมแห่งดอกไม้ ซึ่งหลังจัดแสดงก็มีคนให้ความสนใจผลงานระดับหนึ่ง เพราะตอนนั้นผมยังเป็นศิลปินหน้าใหม่ แต่เอาจริง ๆ ก็ขายงานได้จากนิทรรศการนั้นพอสมควรเลยนะ” เขากล่าว
ทั้งนี้ เขายังเล่าให้ฟังอีกว่า หลังจากจัดแสดงผลงานที่หอศิลป์จามจุรีแล้ว เขาก็สร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น เพราะมีกลุ่มคนที่ชื่นชอบสไตล์ภาพวาดของเขา แต่สุดท้ายก็มีปัญหาเรื่องของสถานที่เก็บผลงาน จนมาคิดได้ว่า การเป็นศิลปินนั้น ปริมาณชิ้นงานไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการสร้างชื่อเสียง และหลังจากหันกลับมาทบทวนชีวิตตัวเองอีกครั้ง ก็พบว่า ตอนนั้นเหมือนประสบการณ์ของเขายังไม่สุกงอมเต็มที่ จึงมุ่งแต่จะผลิตผลงานภาพวาดให้ได้เยอะ ๆ ทำให้ผลงานที่ออกมาไม่ละเอียด ไม่ลุ่มลึก จึงตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการทำงานของตัวเองใหม่ โดยหันมาเน้นทำน้อยชิ้น แต่พยายามทำให้ดีเลิศไปเลย
“พอกลับมามองสิ่งที่ทำไปก็พบว่าตอนนั้นเรายังตีโจทย์ชีวิตตัวเองไม่แตก ทำให้งานที่ออกมาแม้จะมีจำนวนมาก แต่ก็ขาดความลุ่มลึก ผมจึงกลับมาเปลี่ยนแปลงวิธีทำงานของตัวเองใหม่ โดยหันมาเน้นคุณภาพมากขึ้น จนเมื่อมาเปิดร้านขายภาพกับกลุ่มเพื่อน ๆ ที่ตลาดนัดจตุจักร ผมก็เลยมีโอกาสได้สังเกตปฏิกิริยาของคนที่เข้ามาดูภาพของเราว่างานสไตล์ไหน งานแนวไหนที่คนชื่นชอบ หรือรูปภาพแบบไหนที่คนนิยมนำไปประดับตกแต่ง แล้วก็นำเอาข้อมูลที่ได้นี้มาใช้ ประยุกต์ปรับใช้กับสไตล์การวาดภาพของตัวเอง” เป็น “วิธีคิด” ที่น่าสนใจของศิลปินวัย 46 ปีรายนี้ ที่พยายามรักษาสมดุลระหว่างงานศิลปะที่ลุ่มลึก กับงานศิลปะเชิงพาณิชย์
อย่างไรก็ดี แม้เขาจะปรับเปลี่ยนสไตล์การวาดภาพไปบ้าง แต่ผลงาน “ภาพดอกบัว” ที่เขาวาด ก็ยังเป็นผลงานขายดีในกลุ่มผู้เสพงานศิลป์ ซึ่งเขาบอกว่า ภาพชุดดอกบัวนี้จะขายได้ตลอด โดยก่อนหน้าที่เขาจะลงมือวาดภาพชุดดอกบัวนั้น เขาก็ต้องไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะเมื่อได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ที่มีการเปรียบเทียบดอกบัวกับมนุษย์เอาไว้เป็นดอกบัวเหล่าต่าง ๆ โดยเขาได้จับประเด็นนี้มาเป็นธีมหรือคอนเซปต์ในการสร้างสรรค์ผลงานภาพดอกบัว ประกอบกับช่วงที่เริ่มผลิตชิ้นงานศิลปะชุดนี้ เป็นช่วงที่ร้านสปากำลังบูมมาก จนทำให้ผลงานภาพชุดดอกบัวของเขาขายดิบขายดี เนื่องจากร้านสปาเหล่านี้ต้องการภาพดอกบัวไปประดับตกแต่งเพื่อสร้างบรรยากาศให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งเขาบอกว่าช่วงเวลานี้ในตอนนั้นเรียกได้ว่า... เป็นช่วงนํ้าขึ้นของเขาก็ว่าได้
ต่อมาเมื่อภาพชุดดอกบัวเริ่มอิ่มตัวกับตลาดร้านสปา เขาจึงเปลี่ยนมาเน้นการวาดภาพคนแทน เนื่องจากช่วงนั้นเขาเพิ่งจะมีลูก ทำให้อารมณ์ความคิดช่วงนั้นแสดงออกมาผ่านภาพวาดที่เกี่ยวกับชีวิตครอบครัว เช่น ภาพขณะที่ตัวเขากำลังอุ้มลูกที่อยู่ในผ้าอ้อมลายผ้าถุง ซึ่งพอเอาภาพนี้ไปวางขาย ปรากฏขายได้ทันที จนต้องซักถามกับลูกค้าที่ซื้อว่า “ทำไมถึงชอบ?” ซึ่งลูกค้าบอกว่าแปลกตาดี เพราะปกติเห็นแต่ภาพแม่อุ้มลูก แต่ภาพนี้เป็นภาพผู้ชายที่กำลังอุ้มทารกตัวน้อย ลูกค้าจึงรู้สึกชอบ โดยเขาบอกว่า...
“อีกส่วนก็อาจเพราะลูกค้าคนนี้เขาเป็นเพศที่สาม งานชิ้นนี้ก็เลยไปแมตช์กับอารมณ์ความรู้สึกเขา ซึ่งหลังจากภาพแนวนี้ขายได้ ผมก็เริ่มจับทางได้ว่าภาพเกี่ยวกับคน ภาพเด็ก ๆ น่าจะเข้าถึงอารมณ์คนได้ง่าย จึงพัฒนาสไตล์การวาดภาพคนเข้ากับการแฝงความหมายแฝง เพื่อให้คนนำไปตีความ และทำให้สไตล์ภาพดูแปลกตายิ่งขึ้น ปรากฏว่ากลายเป็นแนวที่คนต่างชาติสนใจมาก เพราะมีกลิ่นอายเอเชีย และมีกลิ่นอายความเป็นไทยอยู่ในภาพ”
ทั้งนี้ สำหรับ “ศิลปินในดวงใจ” ของโอ๋นั้น เขาบอกว่า ไอดอลคนแรกคือ พี่ดำ-สุวัฒน์ วรรณมณี ศิลปินแนวพอร์ตเทต ต่อมาคือ ยุทธ สุรพงษ์ ศิลปินอีกคนที่เขาชอบสไตล์การวาดภาพที่เจือไว้ด้วยความสนุกสนาน ส่วนเรื่อง “แรงบันดาลใจในการวาดภาพ” นั้น เขาบอกว่า ส่วนใหญ่แรงบันดาลใจในการเขียนรูปของเขาจะมาจากความสนใจในสิ่งรอบตัว หรือไม่ก็จะเป็นบุคคลใกล้ชิดที่เขาได้พบเจอ และรู้สึกอยากจะถ่ายทอดแง่มุมของคน ๆ นั้น ผ่านมุมมองจากตัวเขาออกมาลงบนภาพวาด
ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว...เราก็อดที่จะถามไม่ได้ถึง “ชีวิตศิลปินภายใต้วิกฤติโควิด-19” ว่าโควิดมีผลมากน้อยแค่ไหนอย่างไรกับชีวิตคนอาชีพศิลปิน ซึ่งเรื่องนี้เขาระบุว่า “ถือเป็นวิกฤติที่หนักมาก!!” เพราะด้วยสภาพที่อารมณ์ผู้คนเต็มไปด้วยความระแวดระวังโรคภัย ทำให้ไม่มีอารมณ์ที่จะเสพงานศิลปะสักเท่าไหร่ อีกทั้งปัจจุบันเศรษฐกิจก็อยู่ในภาวะยํ่าแย่อยู่แต่เดิม ซึ่งองค์ประกอบ 2 ข้อรวมกันนี้ทำให้ชีวิตศิลปินที่วาดภาพเลี้ยงชีวิตยิ่งยํ่าแย่ อย่างไรก็ตาม แต่ศิลปินทุกคนก็ต้องเข้าใจสภาพอารมณ์สังคม...และผู้คนยามนี้ ดังนั้น วิธีเอาชีวิตรอดตอนนี้ก็ต้องดิ้นรนกันให้สุดความสามารถ ซึ่งเท่าที่ได้คุยกับเพื่อน ๆ ศิลปินหลายคน กับช่วงโควิดนี้ บางคนก็หันไปทำอาชีพเสริมไปพลาง ๆ ก่อน โดยคงรอจนกว่าวิกฤติโควิดจบ จึงจะกลับมาวาดภาพขายกันอีกครั้ง
“ถามว่าช่วงโควิดนี้มีผลกระทบต่ออาชีพศิลปินไหม มีแน่นอน เพราะงานศิลปะจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งในเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ ก็ต้องประคองชีวิตตัวเองให้ได้ ต้องใช้จ่ายประหยัด ต้องตัดรายจ่ายไม่จำเป็นออก พวกที่ชอบดื่ม ถ้าเลิกไม่ได้ก็ขอให้ลด ซึ่งสำหรับผม ผมมองว่าช่วงโควิดระบาดถือเป็นช่วงพักเบรกเพื่อเตรียมงานเตรียมตัวเองให้พร้อมกับช่วงชีวิตช่วงใหม่ พอโควิดจบเมื่อไหร่ จะได้พร้อมกลับมาลุยได้ทันที” ศิลปินวัย 46 ปีคนเดิมบอก
และแม้ชีวิตศิลปินช่วงนี้จะ “อยู่ยาก” แต่ “โอ๋” หรือ “ประมวล ทุ่งปรือ” เขากลับมองว่า แม้โควิดจะทำให้สถานการณ์ชีวิตดูแย่ แต่ก็มีมุมดีเช่นกัน เพราะทำให้ “ศิลปินได้ฝึกฝนตัวเอง” เพื่อให้ก้าวไปอีกขั้น อย่างตัวเขานั้น ในช่วงที่ทุกอย่างหยุดนิ่ง ในช่วงที่รัฐบาลออกมาตรการคุมเข้มโควิด ทำให้ตลาดนัดที่เคยขายภาพ ที่เคยเป็นแหล่งหารายได้ ไม่สามารถเปิดทำการได้ เขาก็เลยต้องพยายามหาช่องทางใหม่ ๆ โดยช่วงที่มีโควิด เขาเลือกขายผลงานผ่านช่องทางโซเชียล ทั้งอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก ซึ่งช่องทางนี้ช่วยเพิ่มโอกาสให้กับศิลปินได้ไม่น้อยเลยทีเดียว อย่างไรก็ดี แต่ก็ต้องมีเทคนิคเช่นกัน อย่างการต้องกระตุ้นให้ลูกค้าเข้าถึงและมองเห็นชิ้นงานที่โพสต์ลงไปเรื่อย ๆ และสามารถย้อนกลับไปดูได้ ซึ่งช่องทางนี้ยังมีข้อดีอีกอย่างคือ ช่วยให้ผู้ซื้อและศิลปินได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งลูกค้าจะชอบมาก เพราะสามารถซื้องานได้โดยตรงกับศิลปิน...
e e e e
“ผมมองว่า โลกมันเปลี่ยนไปไกลมาก การซื้อขายงานศิลปะก็เช่นกัน สมัยก่อนต้องซื้อขายผ่านนายหน้า ผ่านทางหน้าร้าน หรือแกลเลอรี่อย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้ ศิลปินสามารถแสดงโชว์งานของตัวเองได้เองเลย แถมขายเองก็ได้ด้วย จนผมกล้าพูดเลยว่า ยุคนี้ไม่มีคำว่าศิลปินไส้แห้งแล้ว ขอเพียงขยัน หมั่นเพียร พัฒนาตัวเอง และรู้จักปรับตัว...
ให้ทันกระแสโลก”.
......................................................
เชาวลี ชุมขำ : รายงาน
June 07, 2020 at 10:30AM
https://ift.tt/2MDNULP
'ภาพชีวิต' ชีวิตจริงนอกภาพ 'วิถีศิลปิน..ยุคสู้พิษโควิด' - เดลีนีวส์
https://ift.tt/3gZmzl3
Bagikan Berita Ini
0 Response to "'ภาพชีวิต' ชีวิตจริงนอกภาพ 'วิถีศิลปิน..ยุคสู้พิษโควิด' - เดลีนีวส์"
Post a Comment